การมุ่งไปสู่กฎหมายกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสมในไทย

Blog

การมุ่งไปสู่กฎหมายกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสมในไทย

28 August 2013

ในเดือนมิถุนายน 2556 IDPC ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดการประชุมโต๊ะกลมของผู้เชี่ยวชาญ เป็นการศึกษาแนวทางปฏิรูปกรอบกฎหมายที่กำหนดบทลงโทษของไทย โดยอาจกำหนดให้มีบทลงโทษเฉพาะสำหรับผู้ใช้ยา และมีส่วนร่วมในการพูดคุยระดับเบื้องต้นเพื่อสนับสนุนทุนสำหรับโครงการด้านยาเสพติด (ซึ่งมักจำแนกเป็น “ผู้เสพ-ผู้ค้า” โดยอ้างถึงศูนย์เฝ้าระวังยาเสพติดและการติดยาแห่งยุโรป (European Monitoring Centre for Drugs and Drug Addiction) การประชุมโต๊ะกลมครั้งนี้เป็นผลมาจากการสัมมนาที่มีขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2555 โดยเป็นการจัดงานร่วมกันระหว่าง IDPC กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และ Transnational Institute เพื่อแลกเปลี่ยนและทบทวนกรอบกฎหมายที่เป็นผลในการจัดการปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติดสำหรับข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ โปรดดู เว็บบล็อกการสัมมนาครั้งนี้ของ IDPC

ประเทศไทยมีบทลงโทษรุนแรงต่อผู้ใช้ยาหรือผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิงยา กรณีที่ตรวจพบว่ามีปัสสาวะสีม่วงเนื่องจากการใช้ยาต้องห้าม ศาลอาจตัดสินลงโทษให้ไปอยู่ในศูนย์บังคับบำบัดเป็นเวลาอย่างน้อยหกเดือน หรือให้เป็นคนไข้นอกของโรงพยาบาลชุมชน จะมีการลบรายชื่อของพวกเขาออกจากบัญชีของตำรวจก็ต่อเมื่อทางการเห็นว่าพวกเขา “สอบผ่าน” โครงการบำบัดแล้ว กรณีที่ยังสอบไม่ผ่าน พวกเขาก็ต้องเข้ารับการไต่สวนและมีบทลงโทษซึ่งอาจทำให้ต้องถูกจำคุก หรือต้องเข้ารับ “การบำบัด” ตามศูนย์บังคับบำบัดหรือโรงพยาบาลชุมชน แต่ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีปัสสาวะสีม่วง และยังถูกตั้งข้อหาจากความผิดอื่น ๆ รวมทั้งการมีไว้ในครอบครองและการจัดหายาเสพติดในปริมาณต่าง ๆ จะมีการนำบทลงโทษทางอาญา (ทั้งการปรับและ/หรือการคุมขัง) มาใช้ สำหรับทั้งความผิดจากการใช้ยาและความผิดอื่น ๆ

การกำหนดบทลงโทษทางอาญาสำหรับการใช้และครอบครองยาเสพติด ไม่ว่าจะมีจุดหมายที่สำคัญสุดเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ขัดแย้งกับหลักการกำหนดบทลงโทษที่ได้สัดส่วนสำหรับความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด “ความผิด” เกี่ยวกับยาเสพติดมักเกิดขึ้นจากการใช้ยาเพียงบางโอกาส ภาวะพึ่งพายา หรือเพราะความจำเป็นด้านเศรษฐกิจพื้นฐาน ในสภาพการณ์เช่นนี้ ควรมีการให้บริการทั้งด้านการรักษา การให้ความรู้ การดูแลภายหลังการบำบัด การฟื้นฟูหรือการยอมรับให้เข้ากับสังคม เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างมีมนุษยธรรม เป็นผล และเป็นทางเลือกที่เหมาะสมแทนที่จะกำหนดบทลงโทษและการคุมขัง กรอบการกำหนดบทลงโทษที่ได้สัดส่วนเหมาะสมควรครอบคลุมองค์ประกอบดังนี้

  1. การแยกแยะระหว่างความผิดในการจัดหาโดยคำนึงถึงประเภทของยาที่เกี่ยวข้อง ระดับของกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย และบทบาทและแรงจูงใจของผู้กระทำความผิด อย่างเช่น ควรมีการแยกแยะความแตกต่างระหว่างผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ที่มีการจัดตั้งเป็นอย่างดี กับผู้ค้ารายย่อย (พ่อค้าในระดับล่างหรือผู้ลักลอบขนยาเสพติด)
  2. สำหรับความผิดด้านการค้ายาเสพติดรายย่อย ควรส่งเสริมให้ลดโทษและให้มีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการคุมขัง
  3. ปริมาณของยาเสพติดที่เกี่ยวข้องไม่ควรเป็นปัจจัยที่สำคัญเพียงอย่างเดียวในการกำหนดบทลงโทษต่อความผิดด้านยาเสพติด โดยควรพิจารณาถึงเงื่อนไขด้านสังคม-เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเหตุให้มีการก่อความผิดดังกล่าว และรายได้ที่ผู้กระทำผิดได้รับ โดยถือเป็นปัจจัยลดผลกระทบที่สำคัญ ในสภาพการณ์ที่บุคคลที่พึ่งพายาเสพติดถูกคุมขัง การจัดให้มีการรักษาและบริการที่มีหลักฐานสนับสนุน รวมทั้งควรประกันให้มีบริการป้องกันเชื้อเอชไอวี

ในแง่การแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับบทลงโทษที่มีสัดส่วนเหมาะสม ผู้เข้าร่วมประชุมบางส่วนเห็นว่า ปัญหาในแง่การกำหนดบทลงโทษต่อผู้ใช้ยาในไทยไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวกฎหมายควบคุมยาเสพติด แต่เกิดขึ้นจากการนำกฎหมายไปปฏิบัติซึ่งมักเป็นเหตุให้ผู้ใช้ยาถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ แทนที่จะได้เข้าสู่กระบวนการบำบัดและฟื้นฟู เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งรับผิดชอบโครงการบำบัดและฟื้นฟูยอมรับว่า แม้ศูนย์บังคับบำบัดยังคงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบำบัดในประเทศ แต่ที่ผ่านมาก็เริ่มมีทางเลือกที่เป็นไปแบบสมัครใจมากขึ้น เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า ทางออกอย่างหนึ่งคือการจำแนกประเภทของความผิดในการจัดหายาเสพติดที่แตกต่างกัน โดยการแยกผู้ค้ายารายใหญ่ไปอยู่รวมกัน แยกออกจากผู้ค้ายารายย่อย แต่เขาก็ยอมรับว่ากฎหมายไทยในปัจจุบันไม่มีข้อกำหนดที่แยกระหว่างผู้ใช้-ผู้ค้า และไม่มีข้อกำหนดให้แยกประเภทการคุมขัง

ตัวแทนจากเครือข่าย 12D ซึ่งเป็นเครือข่ายคนทำงานภาคประชาสังคมเพื่อลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ระดับนโยบายยอมรับว่าเป็นเรื่องปรกติที่คนที่มีภาวะพึ่งพายาอาจหวนกลับไปใช้ยาอีก แม้จะเข้ารับการบำบัดและฟื้นฟูแล้วก็ตาม และทางการไม่ควรใช้มาตรการลงโทษกรณีที่หวนกลับไปใช้ยาใหม่ โดยเธอมีข้อเสนอแนะว่ารัฐบาลควรประเมินการลงทุนในการบังคับใช้กฎหมายเปรียบเทียบกับมาตรการด้านสุขภาพ ทั้งนี้เพื่อให้เห็นประโยชน์จากการลงทุนในมาตรการที่มุ่งแก้ปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพของการใช้ยา เธอยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่รัฐบาลต้องให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการด้านสวัสดิการของชุมชน โดยเฉพาะสำหรับเด็กที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ใช้ยา อย่างเช่น กรณีที่พ่อหรือแม่ถูกคุมขังหรือถูกควบคุมตัวในศูนย์บังคับบำบัด รัฐควรเข้ามาดูแลลูกของพวกเขา

นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอผลการศึกษาจากประสบการณ์ของผู้ใช้สารกระตุ้นจิตและประสาทในประเภทแอมเฟตามีนในระบบยุติธรรมทางอาญาของไทย โดยได้ข้อสรุปว่า ผู้ต้องขังในคดียาเสพติดส่วนใหญ่มักได้รับโทษที่เกี่ยวข้องกับความผิดด้านสารกระตุ้นจิตและประสาทในประเภทแอมเฟตามีน และในคนกลุ่มนี้มีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรคเพิ่มสูงขึ้น ผลการศึกษาจำแนกให้เห็นถึงปัญหาอันเป็นผลมาจากการกำหนดโควตาให้ตำรวจต้องจับกุม ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ตำรวจมุ่งจับแต่ผู้ใช้ยา (แม้จะมีกรณีที่ตำรวจส่งตัวผู้ใช้ยาเข้ารับการบำบัดก็ตาม) การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยว่าใช้ยาในระหว่างรอการตรวจปัสสาวะ ซึ่งเป็นช่องทางให้ตำรวจฉวยโอกาสเข้ามาหาประโยชน์ ความสามารถที่จำกัดของศูนย์บำบัดอย่างสมัครใจซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ใช้ยาหลายคนต้องเข้าเรือนจำแทนหรือไม่ก็ต้องเข้าศูนย์บังคับบำบัด และยังมีการตั้งข้อหาอาญากับผู้ใช้สารกระตุ้นจิตและประสาทในประเภทแอมเฟตามีน อย่างเช่น ข้อหาครอบครองและจัดหายาเสพติด อันเป็นเหตุให้ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะเข้าสู่กระบวนการบำบัดและฟื้นฟู ข้อเสนอแนะที่สำคัญบางส่วนจากงานวิจัยชิ้นนี้ ได้แก่

  • ควรนำทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการคุมขังมาใช้สำหรับผู้ใช้ยาหรือพึ่งพายา และกระทำความผิดเพียงเล็กน้อย
  • ควรเบี่ยงเบนผู้ใช้ยาออกจากระบบยุติธรรมทางอาญา โดยให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดยาและหรือกระบวนการชุมชนอย่างสมัครใจ และ
  • ควรยกเลิกโควตาการจับกุมผู้ใช้ยาของตำรวจ

ตัวแทนจากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้กล่าวในช่วงท้ายการประชุมโดยให้ความหวังว่าควรมีการทบทวนทั้งตัวกฎหมายยาเสพติดและการบังคับใช้ รวมทั้งการปฏิบัติต่อผู้ใช้ยาของตำรวจ ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายเพื่อปฏิรูปนโยบายด้านยาเสพติด เพื่อไปให้พ้นจากการทำ ‘สงครามปราบปรามยาเสพติด’ เขามีข้อสังเกตว่า องค์ประกอบสำคัญของการปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชน หรือการแก้ไขการรับรู้ที่ผิด ๆ เกี่ยวกับนโยบายด้านยาเสพติดที่ดี ในปัจจุบันคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายด้านยาเสพติด และอาจนำประเด็นบทลงโทษที่มีสัดส่วนเหมาะสมมาพิจารณาด้วย
แหล่งข้อมูลที่สำคัญ

กรุณาติดตามเนื้อหาในส่วนนี้สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายด้านยาเสพติดของไทย จะมีการตีพิมพ์เผยแพร่รายงานสรุปการประชุมโต๊ะกลมของผู้เชี่ยวชาญเร็ว ๆ นี้ในเว็บไซต์ของ IDPC และทาง IDPC มีแผนจัดพิมพ์เอกสารฉบับย่อว่าด้วย นโยบายด้านยาเสพติดของไทยในช่วงปลายปี 2556

สำหรับการวิเคราะห์และข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำหนดบทลงโทษที่มีสัดส่วนเหมาะสมสำหรับความผิดด้านยาเสพติด กรุณาอ่านเอกสารสรุปซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุดงานนิพนธ์ว่าด้วยการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับนโยบายด้านยาเสพติด (Series on Legislative Reform of Drug Policies) ซึ่งจะมีการจัดพิมพ์ร่วมกันระหว่าง Transnational Institute และ IDPC:

  • Conviction by Numbers: Threshold Quantities for Drug Policy
  • Drugs, Crime and Punishment: Proportionality of Sentencing for Drug Offences

กลอเรีย ไหล (Gloria Lai) เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านนโยบาย IDPC

สมัครสมาชิกแจ้งข่าวIDPC ทุกเดือน เพื่อรับข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายยาเสพติด