การฟื้นฟูสมรรถภาพยาเสพติดในประเทศไทย: การรักษา หรือ การลงโทษ?

Pexels - Zachary DeBottis

Blog

การฟื้นฟูสมรรถภาพยาเสพติดในประเทศไทย: การรักษา หรือ การลงโทษ?

25 May 2021

การฟื้นฟูสมรรถภาพยาเสพติดในประเทศไทย: การรักษา หรือ การลงโทษ?

สงครามยาเสพติดที่รัฐบาลได้ดำเนินมานานกว่า 30 ปีมีผลกระทบร้ายแรงซึ่งแสดงให้เห็นจากอัตราการถูกคุมขังเกินศักยภาพของเรือนจำ สถานกักกัน รวมถึง "ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพยาเสพติด" ข้อมูลจากหลายประเทศที่ส่งแบบสำรวจของสหประชาชาติ United Nations เกี่ยวกับแนวโน้มทางอาชญากรรม และการดำเนินงานของระบบยุติธรรมทางอาญา(Criminal Justice Systems) แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศ ที่มีผู้ถูกคุมขังจากคดียาเสพติดมากที่สุดในโลก ภาครัฐกักขังผู้คนจำนวนมากที่ใช้หรือค้ายาฯทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่ โดยส่วนมากเป็นผู้ยากจนในสถานที่ที่คนมักมองไม่เห็นความทุกข์ทรมาน ที่แย่ไปกว่านั้น เป็นการกักขังในสถานบำบัดที่แออัดและสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการรักษา โดยเรียกโครงการเหล่านี้ว่าการ“ฟื้นฟูสมรรถภาพยาเสพติด” ผู้ที่กำลังมองหาการรักษาอาการพึ่งพายาเสพติดไม่ควรถูกบีบบังคับให้เข้าร่วมโครงการใดๆ หรือถูกกักขัง การใช้ยาเสพติดหรือพึ่งพาสารเสพติดไม่ควรเป็นเหตุได้รับโทษ

บทความนี้จะนำเสนอแนวทางการจัดการการพึ่งพายาเสพติด ในแง่ของนโยบายและการปฏิบัติในประเทศไทย ส่งผลถึงจำนวนผู้ถูกคุมขังในเรือนจำและการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด (ย่อเป็นระบบ "บำบัดยาเสพติด" ในบทความนี้) บทความนี้จะสะท้อนถึงผลกระทบโดยสรุปประสบการณ์ของคนกลุ่มหนึ่งที่ผ่านโครงการบำบัดยาเสพติดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และให้ข้อเสนอเเนะสำหรับการพิจารณาโดยหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบในการจัดการการพึ่งพายาเสพติดในประเทศไทย

จากรายงานกรมราชทัณฑ์ พบว่ามีผู้ต้องโทษในคดีเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งหมดประมาณ 247,727 คน ซึ่งคิดเป็น ร้อยละ 80 ของจำนวนคนทั้งหมดที่ถูกคุมขังในปี 2563 (ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคม) เรือนจำในประเทศไทยมีจำนวนผู้ถูกคุมขังติดอันดับหกของโลกและเป็นประเทศที่มีนักโทษสูงที่สุดในอาเซียน เรือนจำในประเทศไทยนั้นสามารถรองรับผู้ต้องขังได้เพียง 120,000 คนเท่านั้น อย่างไรก็ตามในปี 2562 ยังมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำมากกว่า 300,000 คนซึ่งเกินความจุของเรือนจำถึง 200% ในปี 2563

ในปีเดียวกัน ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับ THE NATION ว่า: “แม้ว่าประเทศไทยจะมีผู้ต้องขังจำนวนมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามีอัตราการก่ออาชญากรรมสูงสุด แต่สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาบางประการในกระบวนการยุติธรรม การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ต้องขังเกิดจากการแก้ไขกฎหมายยาเสพติดซึ่งเข้มงวดมากจนใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับยาบ้าจะต้องถูกคุมขังในเรือนจำ”

ทางออกของหนึ่งปัญหาเปิดประตูไปสู่ปัญหาใหม่

ในปี 2544 รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ โดยย้ายผู้ที่ใช้ยาเสพติดไปที่ "ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด" ซึ่งลดจำนวนผู้ต้องขังจาก 240,000 คนเป็น 160,000 คน ตั้งแต่นั้นมาปัญหาใหม่ก็ได้เกิดขึ้นจากการที่มีผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติดมากเกินกว่าความจุที่ตั้งไว้ ในปี 2562 มีผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟู ถึง 226,002 คน ในบางศูนย์ฯโดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์ฯที่อยู่ภายใต้การดูแลของตำรวจและทหารนั้น ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในรูปแบบใดๆ แต่ผู้ป่วยอยู่ภายใต้การดูแลของผู้คุมที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ซึ่งมักได้รับการปฏิบัติราวกับถูกลงโทษด้วยการจำคุก ในบางศูนย์ฯมีเจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพที่ได้รับการฝึกอบรมเพียงคนเดียวเท่านั้น ในความเป็นจริงอัตราที่สมเหตุสมผลสำหรับเจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพที่ได้รับการฝึกอบรมหรือที่ปรึกษา 1 คนควรดูแลผู้ป่วย 20-30 คนต่อวันเท่านั้น

หากผู้ใช้ยาฯถูกจับกุม(ข้อหามีสารเสพติดในร่างกาย หรือ ครอบครองยาเสพติด) หรือ ต้องการรับการบำบัดอย่างสมัครใจในระบบของรัฐ จะผ่านระบบสามประเภทนี้

1.ระบบสมัครใจบำบัด นั้นจะรับคนเข้าบำบัดด้วย 2 ช่องทาง:

ก. ผู้ที่เข้าร่วมตามความประสงค์ของตนเองหรือการแทรกแซงของครอบครัวซึ่งจะได้รับการดูแลในสถานพยาบาล หรือ

ข. คสช 108 ผู้ที่ถูกตำรวจจับกุมในข้อหาครอบครองยาเสพติดหรือหลังผลตรวจปัสสาวะเป็นบวก จากนั้นจะมีทางเลือกอยู่สองทางได้แก่: รับการบำบัดและไม่ถูกดำเนินคดี หรือ ปฎิเสธการบำบัดและถูกดำเนินคดี เมื่อผู้ป่วย ‘เลือก’ ที่จะเข้าบำบัดยาเสพติดที่รัฐบาลจัดหาให้ ในกรณีที่ผู้เข้ารับการบําบัดฟื้นฟูปฏิบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกําหนดเกี่ยวกับการบําบัดฟื้นฟู และได้รับการประเมินเป็นผู้ผ่านการบําบัดฟื้นฟู ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบออกหนังสือรับรองเพื่อเป็นหลักฐาน

2.ระบบบังคับบำบัด ผู้เข้ารับการบำบัดที่มาจากการควบคุม/จับกุมและจับกุม ตามพ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา

3. ระบบต้องโทษ เมื่อผู้ที่ใช้ยาเสพติดถูกจับกุมถูกควบคุมตัวตามกฎหมายและถูกตัดสินจำคุกพร้อมกับคำสั่งให้เข้าโครงการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติดในเรือนจำ หลังจากเสร็จสิ้นโครงการบำบัดบุคคลนั้น อาจได้รับโทษจำคุกที่ลดลง

จากรายงานของ ประชาไท ในปี 2562 มีศูนย์ฟื้นฟู 90 แห่งที่ได้รับทุนจากรัฐบาล 57 แห่งอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ส่วนศูนย์ฯที่ได้รับการดูแลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีเพียง 20 แห่ง ซึ่งดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้ติดยาฯ ตามรายงานบนเว็บไซต์ของ กระทรวงสาธารณสุข ใน ปี2562 ศูนย์ฯ 20 แห่งที่ดำเนินการโดย กระทรวงสาธารณสุขนั้น มีประสิทธิภาพมากกว่าโดยมี "อัตราความสำเร็จ" ร้อยละ60 ในขณะที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพภาคบังคับมีอัตราความสำเร็จ เพียง ร้อยละ 45 แม้ว่าจะไม่มีการอธิบายคำจำกัดความของ "อัตราความสำเร็จ" แต่มีแนวโน้มว่าการให้บริการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติดจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากได้รับการจัดการโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขแทนหน่วยงานเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ

วิธีการที่ศูนย์บำบัดยาเสพติดของทหารและตำรวจใช้นั้น เป็นวิธีการหักดิบจากสารเสพติดและฝึกวินัยเท่านั้น นอกจากนี้กรมราชทัณฑ์มีนักจิตวิทยาเพียง 29 คน ที่ดูแลและบริการผู้ต้องขังในเรือนจำทั้ง 142 แห่งทั่วประเทศไทย สาเหตุที่การบำบัดภาคบังคับและการบำบัดโดยสมัครใจแตกต่างกันเนื่องจากต้องพึ่งพาคำสั่งศาลเพื่อรับการรักษาจากกระทรวงสาธารณสุข หากไม่มีคำสั่งศาลจะต้องผ่านกระบวนการคัดกรองในเรือนจำซึ่งต้องผ่านระบบการบำบัดภาคบังคับผ่านศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพของเรือนจำหรือตำรวจ / ทหารซึ่งไม่ใช่แนวทางที่มีประสิทธิภาพในการรักษาการติดยาฯ

จากข้อมูล“ ผลกระทบของการบังคับบำบัดสารเสพติด ต่อการหลีกเลี่ยงการรักษาพยาบาลของผู้ใช้ยาฉีดในประเทศไทย” การมุ่งเน้นไปที่การเลิกแบบหักดิบ เพียงอย่างเดียวทำให้ประสิทธิภาพและผลกระทบของการฟื้นตัวของผู้ป่วยถูกจำกัดลง จากการประเมินและทบทวนระบบบำบัดยาเสพติดของประเทศไทยสรุปได้ว่าบริการดังกล่าวไม่มีประโยชน์แม้แต่การเลิกหักดิบ ในขณะที่จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยามีจำนวนมาก“ การควบคุมและลดความเสี่ยงจากยาเสพติดในประเทศไทย” บ่งชี้ว่าการกลับมาเสพใหม่ ยังอยู่ในระดับสูง แรงจูงใจในการเข้าถึงการรักษาด้วยยายังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ และยังมีการเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิของผู้ป่วย การกักขังแบบบังคับของการรักษาได้รับการระบุโดยหน่วยงานของสหประชาชาติ (United Nations)และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วเอเชียว่าไม่มีประสิทธิภาพ และ ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยและมีค่าใช้จ่ายสูง ในขณะที่ศูนย์ดังกล่าวมักมีบุคลากรการเเพทย์ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยในศูนย์

“แม้กระทรวงสาธารณสุขจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางโปรแกรมบำบัดฯ และอบรมวิทยากร ท้ายที่สุดแล้ว แต่ละค่ายก็จะมีวิธีปฏิบัติตามศักยภาพและความถนัดของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งค่ายทหารก็จะเน้นการฝึกวินัยเสียเป็นส่วนใหญ่ ในส่วนของความรู้ในด้านการบำบัดยาเสพติดนั้นมันไม่ใช่แค่เรื่องระเบียบวินัยอย่างเดียวที่จะทำให้เลิกยาได้ ทางเราจึงต้องเข้าไปช่วยดูแลว่าจะเสริมความรู้อย่างไรบ้าง” กล่าวโดย นายแพทย์ล่ำซำ ลักขณาภิชนชัช รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจด้านวิชาการและการแพทย์ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ในการสัมภาษณ์กับประชาไท ในปี 2561

ทำไมถึงควรต้องมีการปฏิรูปกระบวนการคัดกรองการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติดของประเทศไทย?

ปัญหาหลักของระบบบำบัดยาเสพติดของประเทศไทยนั้น เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการคัดกรองว่าใครควรได้รับการบำบัดยาเสพติดประเภทใด โดยรัฐบาลได้จัดทำ“ โควต้า” ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับจำนวนคดียาเสพติดที่ต้องคลี่คลายภายในระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้ ส่งผลให้มีการกำหนดเป้าหมายไปที่ผู้ใช้ยาเสพติดรวมถึงการตั้งด่านตรวจและสั่งให้ประชาชนเข้ารับการตรวจปัสสาวะทั้งประเทศ หากตรวจพบร่องรอยของสารเสพติดในระบบ ตำรวจสามารถจับกุมผู้นั้นได้และเสนอ 'ทางเลือก' ให้เข้าโครงการบำบัดยาเสพติด มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีในความผิดทางอาญาในข้อหาบริโภคซึ่งอาจมีโทษปรับและ / หรือจำคุกหนึ่งปี

คณินและลีโอ (นามสมมุติ) ผ่านการบำบัดโดยศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพฯที่อยู่ภายใต้การดูแลของทั้งตำรวจและทหาร ทั้งสองเล่าว่าคนส่วนมากรวมถึงตนเองไม่ได้บอกความจริงในระหว่างขั้นตอนการคัดกรองเพราะถูกบังคับให้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูภายใต้กฎหมาย “คสช 108” นอกจากนี้ผู้ใช้อาจกลายเป็นผู้ค้ายาฯหรือที่เรียกกันว่า “เอเย่น” เสียเอง เนื่องจากได้สร้างเส้นสายกับผู้ค้ายารายใหญ่ที่ถูกกักขังภายในศูนย์เดียวกัน ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่คณินได้พบเองทำให้ธุรกิจค้ายาของเขาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วถึงสองเท่า หลังเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูผู้เยาว์ในเรือนจำกลางคลองเปรม (กล่าวถึงในช่วงหลัง)

ในปี 2561 นายแพทย์ล่ำซำ ลักขณาภิชนชัช ได้เปิดเผยผลการวิจัยของเขา กับประชาไท ว่ามีผู้ป่วยประมาณ 100,000-300,000 คนที่อยู่ในระบบบำบัดยาเสพติดในแต่ละปี ในปี 2562 ข้อมูลจากเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าร้อยละ 47 หรือประมาณ 107,363 คนเป็นผู้ป่วยที่เข้าศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยขณะที่ผู้ที่สมัครใจเข้ามารับการรักษาอย่างเหมาะสมนั้นอยู่ที่ร้อยละ 24.7 หรือ 55,569 คน ซึ่งหมายความว่าในปี 2562 มีผู้ป่วยในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพยาเสพติดร้อยละ 75 หรือ 169,312 คนไม่ได้เข้ารับบำบัดอย่างสมัครใจ แต่เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกล่าวหาทางอาญา

ในปี 2563 จำนวนคนในระบบบำบัดยาเสพติดลดลงอย่างมาก: จาก 226,002 ในปี 2562 เป็น 136,453 ในปี 2563 ซึ่งคิดเป็น 89,549 คน สาเหตุของการลดลงอย่างมีนัยสำคัญยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตามเป็นไปได้ว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 มาตรการเว้นระยะห่างในสังคมทำให้ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาต้องลดจำนวนการรับผู้ป่วยใหม่ลงเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และ ลดความสำคัญของตำรวจในการจับกุมคดีเกี่ยวกับยาเสพติดลงเล็กน้อย อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประชากรในระบบบำบัดลดลงอาจเกิดจากการปฏิรูปตำรวจที่ดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เพื่อให้จุดตรวจมีความโปร่งใสมากขึ้นรวมถึงยุติการสั่งให้ประชาชนเข้ารับการตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหาสารเสพติด

คณิน: "วงจรอุบาทว์" ที่เริ่มต้นที่ศูนย์บำบัดเด็กและเยาวชนที่เรือนจำกลางคลองเปรม

“ผมไม่รู้นะว่าการบำบัดยาเสพติดที่ดีเป็นอย่างไร แต่การบำบัดในคลองเปรมมันไม่มีอะไรดีเลย อย่าเรียกว่าบำบัดเลยดีกว่า” กล่าวโดยคณิณ(นามสมมุติ) หนึ่งในวัยรุ่นจำนวนมากที่เข้ารับการบำบัดในเรือนจำกลางคลองเปรมสำหรับเยาวชนในปี 2561 ขณะนั้นคณินใช้กัญชาและ MDMA หรือยาอี เพื่อรับมือกับปัญหาครอบครัวของเขา

วิทยากรณ์ มาพูดในศูนย์บำบัด ภาพจาก: Sarathat

ครอบครัวของเขาได้แจ้งความกับตำรวจว่าคณินขายกัญชา ในศูนย์บำบัดยาเสพติดนั้นเขาได้เจอกับการทุจริตของพัศดีหรือผู้คุมคุก เพื่อแลกกับสิทธิพิเศษ ในระหว่างนั้นเขาไม่ได้รับยาสำหรับอาการถอนยาหรือคำแนะนำจากจิตแพทย์หรือที่ปรึกษาแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นจากประสบการณ์ของ คณิน เขาเชื่อว่าการบังคับให้ผู้คนถูกคุมขังเป็นเวลา 42 วันนั้น ไม่ได้ทำให้เขาหรือคนในนั้นมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงแม้แต่อย่างใด ซํ้าแต่จะสร้างวงจรที่เลวร้ายกับการจับกุมซ้ำแล้วซํ้าเล่า “ผมรู้จักคนที่นั่นหลายคนที่จะออกมาจากศูนย์ไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือนต่อมา พวกเขาก็จะกลับมาที่เดิม” คณินกล่าว

คณินเล่าถึงการปฏิบัติที่โหดร้ายในคลองเปรม พัศดีเป็นคนที่ถืออำนาจมากที่สุดและใช้ระบบเพื่อทุจริตตามที่เขาพอใจ: “ผู้คุมเป็นเหมือนพระเจ้าในนั้น เขาจะทำร้ายเราแค่ไหนก็ได้ แต่ถ้าเราติดสินบนเขา เราจะได้สิทธิพิเศษ เขาจะดูแลเราดีขึ้น และก็จะสั่งให้เด็กวัยรุ่นข้างในช่วยดูแลเรา ไม่ให้คนอื่นมารังแกเรา เขาเเนะนำให้ครอบครัววัยรุ่นทั้งหลายโอนเงินไปที่บัญชีเขาแทนบัญชีในคุก เขาอ้างว่ามันจะถึงมือเราก่อนผ่านระบบ เราจะได้สิทธิพิเศษจากเขา เช่น อาหาร และ ขนมที่ดีกว่า และไม่ให้ใครมารังแกเรา แต่อย่างไรเราก็ต้องแบ่งอาหารหรือขนมที่ผู้คุมซื้อมาให้ กับวัยรุ่นคนอื่น ส่วนเงินที่เหลือจากนั้น ผู้คุมมักจะเอาไปแทงบอลต่อ”

คณินรู้สึกว่าประสบการณ์ของเขาในคลองเปรมไม่ได้ช่วยเขาและคนอื่น ๆ ในการแก้ไขปัญหาเบื้องหลังการพึ่งพายาเสพติดของพวกเขา “ ถ้าเป็นไปได้ผมอยากให้ทั้งระบบได้รับการปฏิรูปสิ่งที่ผมผ่านมา ไม่ถือว่าเป็นการบำบัด มันเป็นวงจรที่น่าขยะแขยง ถ้าผู้ใช้ยาเสพติดไม่ได้คิดที่จะหยุดการใช้ยาเอง มันก็ไม่มีใครที่จะช่วยผมได้”

เมื่อคณินรับการบำบัดเรียบร้อยและถูกปล่อยตัวออกมา เขามองประสบการณ์เป็นเพียงแค่การจำคุก คณินไม่มีความเชื่อมั่นต่อศูนย์บำบัดของรัฐบาลแม้แต่อย่างใด และตั้งแต่นั้นมาเขายังคงไม่เลิกการขายยา ประสบการณ์ของเขาเพียงแต่สอนให้เขาระมัดระวังตัวมากขึ้น เพื่อจะไม่ถูกจับเป็นครั้งที่สอง เขาแยกตัวออกมาจากครอบครัว และขังตัวเองอยู่ในห้องเล็กๆ ห่างไกลจากสังคมรอบข้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรวจและด่านตรวจปัสสาวะ ธุรกิจยาของเขาเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จากเส้นสายที่เขาสร้างขึ้นระหว่างอยู่คลองเปรม ทุกวันนี้เขายังคงใช้ยาเสพติดมากขึ้นเรื่อยๆและไม่มีแนวโน้มจะลดลงแม้แต่อย่างใด

การบังคับบำบัดที่แฝงตัวอยู่ในระบบบำบัดสมัครใจ

ในปี 2562 ผู้คนจำนวนมากได้เข้ามาในศูนย์บำบัดอย่างล้นเหลือ หลังจากการเกณฑ์ทหารประจำปีได้เริ่มตรวจปัสสาวะผู้คนที่เข้ามาจับใบดำใบแดง เพื่อหาสาร Tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งเป็นสารที่พบในกัญชาโดยปกติแล้วจะตรวจหาสาร methamphetamine หรือ ยาบ้า ในกรณีนี้ ผู้คนที่มีสารเสพติดในตัว จะต้องเข้ารับการบำบัดในระบบสมัครใจ หรือ โดยกฏหมาย คสช 108 ซึ่งผู้คนเหล่านี้มักจะถูกดูแลโดยตำรวจหรือทหาร โดยในศูนย์มักจะไม่ให้ยาที่ช่วยเรื่องอาการถอนยาแต่อย่างใด การบำบัดในศูนย์มักจะเป็นการหักดิบ และ กิจกรรมที่ให้ผู้ป่วยทำประกอบไปด้วย การฝึกซ้อมแบบทหารขั้นพื้นฐาน และ การร้อยลูกปัด

วิทยากรบรรยายผู้ที่ใช้ยาเกี่ยวกับพิษของยา ภาพจาก: Matichon

“คนในนั้นที่เข้าไปเจอส่วนใหญ่ก็จะเป็นชนชั้นล่างหน่อยๆ เหมือนศูนย์ที่เข้าไปถูกสร้างมาเพื่อคนพวกนี้เฉยๆ แต่ถามว่าคนพวกนั้นสมควรที่จะเข้าไปอยู่ในนั้นไหม? ก็ไม่สมควรนะ แต่ที่พยายามสื่อคือคนที่โดนบำบัด/เล่นยา คนมักจะมองคนเล่นยาเป็นคนจนหรือเป็นคนตกงาน ซึ่งมันไม่ได้เป็นความจริงเสมอไป เราสามารถประสบความสำเร็จและมีความทะเยอทะยานไม่น้อยกว่าคนอื่น” กล่าวโดย ลีโอ(นามสมมุติ) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ใหญ่ที่ถูกบังคับให้เข้ารับการบำบัดในศูนย์ที่ทหารดูแลเพื่อไม่ให้มีคดียาเสพติดติดตัว ลีโอเป็นผู้ใช้กัญชาเพื่อรับมือกับภาวะซึมเศร้าและความเหงาของเขาในเชิงสันทนาการ

ลีโอไม่ได้เรียนวิชารักษาดินแดน(รด.) จึงต้องรายงานตัวเพื่อจับใบดำใบแดงแต่กลับต้องประหลาดใจเมื่อในช่วงสิ้นสุดกระบวนการจับใบดำใบแดงนั้นมีการตรวจปัสสาวะ หาสาร THC

ภาพระหว่างผู้ป่วยผ่านการคัดกลอง ภาพจาก: Khaosod

“เรานั่งกับเจ้าหน้าที่ว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง มันก็ไม่มีทางเลือกอะไรเลย นอกจากไปเข้าค่ายบำบัด ถ้าเราหนีบำบัดก็จะโดนดำเนินคดี จริงๆ มันก็ไม่มีอะไรให้เลือกหรอก ถ้าไม่อยากมีคดีติดตัวก็ต้องไป แต่ลึกๆ เราก็รู้สึกว่าโชคดีที่ได้เข้าไปในศูนย์ที่อยู่ในกรุงเทพ เพราะพวกศูนย์ต่างจังหวัดนั้นดังเรื่องทหารทำร้ายร่างกายผู้ป่วย”

ลีโอเล่าถึงวันแรกที่ก้าวเข้าไปในศูนย์ ในขั้นตอนการคัดกรองเจ้าหน้าที่ถาม ลีโอ ว่าเขาได้รับยามาจากที่ใดและไปรับมาอย่างไร “แต่ก็ไม่มีใครรายงานตามความจริง หรอกขนาดแค่ถามว่าเรียนมหาลัยที่ไหนยังไม่บอกความจริงเลย”

จากประสบการณ์ตรงของลีโอ เขาไม่ได้มองว่าเป็นการบำบัดแม้แต่น้อย

“มันไม่ได้ช่วยอะไรเลยนะ กิจกรรมแต่ละวันจะมีวิทยากรมาสอนร้อยลูกปัด เผื่อออกไปแล้วไม่มีงานทำจะได้ร้อยลูกปัดขาย เขาคิดแบบนั้นกันจริงๆ บางทีก็มีวิทยากรมาสอนเกี่ยวกับยาเสพติด แบบที่เคยได้ยินมาตลอดว่ามันไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ เขาก็ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่ายาอะไรแย่กว่ากันนะ เขาจะเหมารวมยาทุกชนิดว่าไม่ดี และก็ให้จำชื่อทหารดังๆหลายๆคน เค้าจะชี้รูปและถามชื่อ และเราก็ต้องขานชื่อทหารนายนั้น 3 ที “ปรีดี พนมยงค์ ปรีดี พนมยงค์ ปรีดี พนมยงค์” ลีโอเล่าพร้อมหัวเราะ

“สองสามวันครั้ง ก็จะไปคุยกับหมอ วัดอุณภูมิความดัน ถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่ถึงจะบอกว่าไม่ชอบ เขาก็ช่วยอะไรไม่ได้หรอก เหมือนเป็นหนึ่งในกระบวนการที่เขาต้องทำอยู่แล้ว ไม่มีถามเชิงลึกว่าใช้ทำไม ต้องแก้อย่างไร”

ผู้ป่วยนั่งเป็นวงกลม รับฟังการบรรยาย : ภาพจาก: Khaosod

เคราะห์ดีสำหรับลีโอที่เขาไม่ถูกทำร้ายร่างกายเหมือนในศูนย์บำบัดคลองเปรมของคณิน เขาเล่าว่าทหารพี่เลี้ยงนั้นใจดีและเคารพสิทธิของพวกเขา เนื่องจากทหารพี่เลี้ยงนั้นเป็นทหารถูกเกณฑ์มาเมื่อหลายปีก่อนเหมือนกับการที่ลีโอถูกบังคับให้เข้ารับการฟื้นฟู พวกเขาจึงเห็นอกเห็นใจกัน นอกจากนี้ลีโอได้กล่าวว่าทหารนั้นไม่มีการรับสินบนเมื่อเทียบกับพัศดีที่คุมคุกของคณิน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยยังได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีจากหัวหน้าศูนย์ฯ

“คนที่นิสัยไม่ค่อยดีจะเป็นทหารที่คุมศูนย์มากกว่า มุมมองของเขากับคนที่มาเข้าบำบัดมันแย่มาก เขาไม่เห็นว่าเราเป็นคนด้วยซํ้า คนคุมศูนย์จะชอบใช้ คนบำบัดไปช่วยขายของ ใน gift shop ของศูนย์ บางทีตอนเอาเสื้อผ้าใหม่มาให้ ก็จะปาลงพื้นแทนที่จะส่งให้ธรรมดา เวลาเขาเเจกขนมให้เราเขาจะรู้สึกดีใจออกหน้าออกตาเหมือนกับเด็กให้อาหารสัตว์ในสวนสัตว์ เขาคิดว่าเขาเป็นพระเจ้า เขามองเราตํ่ามาก แต่อย่างน้อยก็ไม่เคยเห็นทหารมาทำร้ายร่างกายคนบำบัดนะ”

เมื่อถามลีโอว่า มุมมองของสถานบำบัดนี้เป็นอย่างไร เขาตอบว่า “มันเป็น 10 วันที่แย่มาก นั่งนับวันกันทุกคน คนที่ดูแลศูนย์ต้องเลิกมองว่าขี้ยาแล้วไม่ทำงาน หรือแม้แต่ ใช้ยาแล้วจะไม่มีงานทำ มันก็มีคนที่ใช้ยาแล้วมี อาชีพที่ดี และมั่นคง ไม่ต่างจากคนอื่นๆในสังคม มิหนําซํ้าเอาเขามากักตัวแบบนี้เขาก็เสียรายได้อีก ส่งไปศูนย์บำบัดเอกชนคงจะดีกว่า แบบนี้ไม่ได้ผลเลย”

หลังได้รับการบำบัดฟื้นฟู ลีโอจบการศึกษาจากหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันเขาทำงานใน บริษัท เทคโนโลยี ในฐานะผู้พัฒนาแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ และยังคงใช้กัญชาเพื่อพักผ่อนหย่อนใจหลังเวลาเลิกงาน

ประสบการณ์ที่ดีกับการบำบัดยาเสพติดในสถานพยาบาล

มายา กับหนึ่งในสตูดิโอของ BANG BAHT, ภาพจาก จิรภาส ลิมอักษร

มายา ปิยาพัน หรือ ปลาวาฬ หนึ่งในโปรดิวเซอร์ของ BANG BAHT (แบงค์บาท) และ ผู้ก่อตั้ง WARP GANG ซึ่งเป็นช่อง YouTube ที่ทำข่าวเกี่ยวกับดนตรีฮิปฮอป เป็นหนึ่งในคนที่เปิดกว้างเกี่ยวกับการใช้ยาเสพติดและสุขภาพจิตของเขามาโดยตลอด เมื่องานเกี่ยวกับดนตรีของเขาเริ่มมีชื่อเสียงขึ้น เขาจึงตัดสินใจว่าถึงเวลาเอาชนะอาการเสพติดของเขา โดยเลือกรับการรักษาที่โรงพยาบาล พระมงกุฏ

มายาตัดสินใจด้วยตัวเองเพื่อเอาชนะภาวะเสพติดของเขา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เขาเอาชนะการเสพติดได้ เมื่อเทียบกับคนอื่นที่ให้สัมภาษณ์: ผู้ที่ถูกบังคับเข้าศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพโดยไม่ได้เต็มใจแสดงถึงผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

มายา หรือ ชื่อเล่นว่า ปลาวาฬ ภาพจาก จิรภาส ลิมอักษร

“เพราะว่าเริ่มมีงานเข้ามาจริงจัง แล้วทุกอย่างที่เราทำเล่นๆเมื่อก่อนเดี๋ยวนี้ได้เงิน มันต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น เราก็รู้สึกว่าเราจะเป็นแบบนี้ไม่ได้เเล้วเพราะมันเสียการเสียงาน ก็เลยเข้าไปบำบัด” กล่าวโดย มายา

“คนที่ดูแลที่นั้นเป็นแพทย์/พยาบาลที่เป็นทหาร ที่ทำงานกับมหาลัยสักมหาลัยนึง และเขาทำงานร่วมกับโรงพยาบาลพระมงกุฏ บุคลากรในนั้นมี background ทาง แพทย์เกือบหมด ตอนกลางคืนเมื่อหมอทำงานในโรงพยาบาลเสร็จก็ขึ้นมาคุย ให้เวลาคุย 30 นาที ถึง ชั่วโมงนึง ซึ่งมันก็ดีนะ”

เมื่อถามว่า เขาชนะอาการเสพติดยาได้อย่างไร มายาได้ตอบกลับว่า “การบำบัดที่ดีคือการรับฟังเเละเข้าใจ โชคดีที่เข้าไปแล้ว หมอกับพยาบาล เข้าใจนะ ไม่เหมือนที่รุ่นน้องไป พวกนั้นอะปิดกล้องวงจรปิดกระทืบเลย พวกศูนย์หลวงที่ไม่ใช่ของรัฐ”

มายา และเพื่อนร่วมงาน ภาพจาก: Facebook

มายา พอใจกับประสบการณ์ของเขาภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรม “ได้ผลนะ ได้ผลจัดเลย จากที่ต้องสูบตลอดก็เป็นสูบกัญชานานๆ ที แทน จริงๆก็ไม่ได้สูบเลย แต่มีอะไรอยากเปลี่ยนไหม? รู้สึกว่าเขาไม่ได้มีเวลาดูเเลผู้ป่วยทุกคนจริงๆ เพราะฉะนั้นการไปบำบัดในโรงพยาบาลอาจจะไม่ได้เป็นทางออกขนาดนั้นตราบใดที่ยังมีข้อจำกัดพวกนี้”

หลายสิบปีกับการจองจำผู้เสพฯ ถึงเวลาที่จะต้องใช้แนวทางใหม่หรือไม่?

การบำบัดยาเสพติดนั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังประสบปัญหาการพึ่งพายาเสพติดที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ใช้ยาจะต้องได้รับการแทรกแซงจากรัฐบาล หรือ ผู้บังคับใช้กฎหมาย จากรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติหรือ UNODC เผยว่ามีเพียงร้อยละ 10 ของผู้ที่ใช้ยาทั้งหมดเท่านั้นที่พึ่งพายาฯ เป็นผลให้มีผู้ใช้ยาฯเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจต้องการหรือได้รับประโยชน์จากการบำบัดยาเสพติดหรือการฟื้นฟูสมรรถภาพ

ดังนั้นการตัดสินใจควรเป็นของผู้ที่ใช้ยาฯเอง ว่าต้องการหยุดใช้หรือไม่ ไม่ว่าจะต้องการการบำบัดฟื้นฟูยาฯบางประเภทหรือบริการอื่นๆ สำหรับมายา การตัดสินใจของเขาเองเป็นวิธีแก้ไขปัญหาการพึ่งพายาเสพติด การตัดสินใจเลิกใช้ยาฯควรกระทำโดยผู้ใช้ไม่ใช่ผู้อื่น

ประสบการณ์ของลีโอและคณินแสดงให้เห็นว่าการบังคับให้พักฟื้นเป็นเพียงการจำคุกอีกรูปแบบหนึ่งและไม่มีประสิทธิผลในการช่วยให้พวกเขาจัดการกับอาการพึ่งพายาเสพติด ในความเป็นจริงคงจะดีกว่าหากไม่มีการบังคับบำบัด คณินคงไม่ถลำลึกไปกับยาเสพติดมากกว่าเดิมหากเขาไม่ได้เส้นสายที่ได้มาจากการเข้าไปอยู่ในระบบบำบัดนี้ ในทางกลับกันลีโอไม่เคยมีปัญหาจากการใช้ยาฯของเขา เพราะเขาใช้ยาฯเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจหลังการเขียนโปรแกรมและการเรียนทั้งวัน ระบบบำบัดจึงเป็นการเสียเงินภาษีและเวลาของเขาไปโดยเปล่าประโยชน์

เมื่อการใช้ยาเสพติดและการครอบครองเพื่อการใช้ส่วนบุคคลเป็นอาชญากรรม เงินของผู้เสียภาษีจำนวนมากถูกนำไปสนับสนุนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและการแทรกแซงการบังคับใช้กฎหมายแม้ว่าวิธีการเหล่านี้พิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าไม่ได้ผลในการป้องกันการใช้และการจัดหายา The International Drug Policy Consortium จึงแนะนำว่านโยบายยาเสพติดควรอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานที่มีรูปธรรมมากที่สุด ด้วยเหตุนี้รัฐบาลไทยควรตั้งกฎหมายและนโยบายยาเสพติด โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆเช่น ต้นทุนสัมพัทธ์และความคุ้มทุนของแนวทางต่างๆในการควบคุมยาเสพติด ความแตกต่างระหว่างความต้องการของผู้ที่พึ่งพายาเสพติดเมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้ยาฯเป็นครั้งคราวและเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจความจำเป็นในการเสนอทางเลือกในการรักษาการพึ่งพายาฯที่หลากหลาย (รวมถึงการ ล้างพิษ การฟื้นฟู การดูแลด้านจิตใจ และ การช่วยเหลือจากผู้ป่วยกันเอง หรือ Peer support)

จากการหารือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของรัฐบาลรวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในปี 2559 ประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาการลดโทษทางอาชญากรรมเกี่ยวกับยาเสพติด(Drug Decriminalisation)ที่เกี่ยวกับการใช้และการครอบครองยาเสพติดปริมาณเล็กน้อย เพื่อช่วยลดการใช้เงินของผู้เสียภาษีโดยเปล่าประโยชน์ และผลกระทบที่เสียหายของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายต่อประชาชน การประหยัดค่าใช้จ่ายสามารถลงทุนในการจัดเตรียมการรักษาด้วยยา และ การลดอันตราย(Harm reduction) และบริการด้านสุขภาพและสังคมอื่นๆ สำหรับผู้ที่ใช้ยาเสพติดและในชุมชนอย่างเพียงพอ นี่คือสิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริงในประเทศไทยซึ่งมีผลกระทบต่อทุกหย่อมหญ้าของสังคม

Related Profiles

  • International Drug Policy Consortium (IDPC)

Translations