Blog

องค์การสหประชาชาติเผยแพร่แนวปฏิบัติว่าด้วยการลดอันตรายฉบับปรับปรุงใหม่

28 August 2013

ในเดือนนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และสำนักงานโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้เผยแพร่แนวปฏิบัติฉบับตีพิมพ์ครั้งที่สอง ในเรื่อง “แนวปฏิบัติเชิงเทคนิคสำหรับประเทศต่าง ๆ ในการกำหนดเป้าหมายการเข้าถึงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมในด้านการป้องกันเชื้อเอชไอวี การรักษาและการดูแลผู้ใช้ยาด้วยวิธีฉีด” (Technical Guide for Countries to Set Targets for Universal Access to HIV Prevention, Treatment and Care for Injecting Drug Users)

แนวปฏิบัติฉบับแรกเผยแพร่เมื่อปี 2552 เป็นครั้งแรก เป็นการเสนอ “ชุดของมาตรการอย่างเป็นองค์รวม” เก้าอย่างที่องค์การสหประชาชาติให้ความเห็นชอบเพื่อนำมาใช้กับผู้ใช้ยาด้วยการฉีด ได้แก่

  • โครงการเข็มและกระบอกฉีดยา (NSPs)
  • การบำบัดด้วยสารทดแทนอนุพันธุ์ฝิ่น (OST) และการรักษาภาวะพึ่งพายาที่มีหลักฐานสนับสนุน
  • การตรวจหาเชื้อเอชไอวีและให้คำปรึกษา
  • การรักษาด้วยยาต้านไวรัส
  • การป้องกันและการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • โครงการถุงยางอนามัย
  • การให้ข้อมูล การศึกษา และการสื่อสาร เฉพาะกลุ่มเป้าหมาย
  • การป้องกัน การให้วัคซีน การวิเคราะห์ และการรักษาไวรัสตับอักเสบ
  • การป้องกัน การให้วัคซีน การวิเคราะห์ และการรักษาวัณโรค

นับแต่นั้นมา ชุดของมาตรการเหล่านี้ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมระดับสูงสุดด้านการเมือง รวมทั้งของคณะกรรมาธิการยาเสพติด (Commission on Narcotic Drugs – CND) คณะกรรมการประสานงานสำนักงานโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) กองทุนโลกเพื่อการต่อสู้กับโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย (Global Fund to Fight AIDS, Tuberculosis and Malaria) และแผนฉุกเฉินของประธานาธิบดีเพื่อบรรเทาปัญหาเอดส์ (PEPFAR) และได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลด้านเทคนิคที่มีคุณค่าอย่างมาก และเป็นเครื่องมือรณรงค์ที่สำคัญ แต่ที่ผ่านมาก็ถูกวิจารณ์ว่าละเลยมาตรการที่สำคัญอย่างอื่นไป (ยกตัวอย่างเช่น ทางพันธมิตรสากลด้านเอชไอวี/เอดส์ได้ระบุถึงมาตรการแทรกแซง 15 ประการในรายชื่อมาตรการลดอันตรายของตนเอง) (the International HIV/AIDS Alliance, for example, has outlined 15 interventions in its own harm reduction list)

ข้อสำคัญ แม้รายชื่อข้างต้นจัดทำเรียงตามลำดับความสำคัญและหลักฐานที่สนับสนุน เช่น โครงการเข็มและกระบอกฉีดยาและการบำบัดด้วยสารทดแทนอนุพันธุ์ฝิ่น มีความสำคัญมากสุดในฐานะเป็นมาตรการที่มีการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลเมื่อเทียบกับมาตรการทั้งเก้าอย่าง แต่ในแนวปฏิบัติฉบับสุดท้ายที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2552 กลับละเลยประเด็นนี้ เป็นเหตุให้หลายประเทศแสดงความยินดีกับตนเองที่ปฏิบัติตามมาตรการ 7 จาก 9 อย่าง โดยละเลยมาตรการที่สำคัญสุดสองประการแรกไป

ในแนวปฏิบัติที่ตีพิมพ์ครั้งที่สองและเผยแพร่ในเดือนนี้ เนื้อหาโดยรวมไม่มีการเปลี่ยนแปลง (ในแง่การเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้เกิดกระบวนการทางการเมืองที่ยุ่งยากมากขึ้น) อย่างไรก็ตาม แนวปฏิบัติฉบับปรับปรุงใหม่ได้แยกแยะอย่างชัดเจนระหว่างมาตรการ “โดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้ยา” กับมาตรการทั่วไปซึ่งอยู่ในชุดมาตรการรวม (comprehensive package)
“เพื่อแก้ปัญหาเอชไอวีให้ได้สำหรับการใช้ยาด้วยวิธีฉีด ประเทศต่าง ๆ ควรให้ความสำคัญมากสุดกับโครงการเข็มและกระบอกฉีดยา และการบำบัดภาวะพึ่งพายาที่มีหลักฐานสนับสนุน (โดยเฉพาะการบำบัดด้วยสารทดแทนอนุพันธุ์ฝิ่น)… ประเทศส่วนใหญ่ได้ปฏิบัติตามมาตรการ (อย่างอื่น) ที่ต่างไปจากชุดมาตรการรวม ซึ่งไม่ได้มีเป้าหมายที่นำมาใช้กับผู้ใช้ยาเป็นการเฉพาะ” (หน้า 11)
การแยกแยะเช่นนี้เป็นเรื่องจำเป็น เพราะเพิ่มแรงกดดันให้กับประเทศที่ยังคงขัดขวางโครงการเข็มและกระบอกฉีดยาและ/หรือการบำบัดด้วยสารทดแทนอนุพันธุ์ฝิ่น

แนวปฏิบัติฉบับปรับปรุงใหม่ที่เผยแพร่ในประเทศต่าง ๆ เสนอกรอบตัวชี้วัดและเป้าหมายที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานมากขึ้น รวมทั้งมาตรการใหม่ที่สำคัญเกี่ยวกับบริบทที่มีการนำนโยบายด้านยาเสพติดไปปฏิบัติ แนวปฏิบัติฉบับนี้ยังให้ความเห็นชอบต่อการใช้ “low dead-space syringes” (การลดโอกาสการเสียชีวิตจากกระบอกฉีดยา) กรณีที่มีความเหมาะสม (หน้า 12 โปรดดูเว็บบล็อกของ IDPC ที่นี่)

ในเนื้อหายังพูดถึงอย่างชัดเจนต่อการป้องกันการน็อกยาและการใช้ยานาล็อกโซน (naloxone) ใต้หัวข้อ “การให้ข้อมูล การศึกษา และการสื่อสาร เฉพาะกลุ่มเป้าหมาย” (หน้า19) และยังไม่สนับสนุนการบังคับบำบัดด้วยการควบคุมตัว (หน้า 14)
นอกจากนี้ยังมีหัวข้อ “ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มีอิทธิพลต่อความเสี่ยงและผลกระทบ” ซึ่งต้องถือว่าเป็นส่วนเสริมสำหรับ “ชุดมาตรการรวม” อย่างเช่น นโยบายด้านยาเสพติดและกฎหมายที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนมากขึ้น (หน้า 23) มาตรการแทรกแซงที่แนะนำประกอบด้วยการรณรงค์ การปฏิรูปกฎหมาย การระดมพลชุมชน และการลดการตีตรา

คลิก ที่นี่ เพื่ออ่านแนวปฏิบัติฉบับปรับปรุงใหม่ขององค์การสหประชาชาติ

เจมี บริดจ์ (Jamie Bridge) เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายอาวุโสและผู้จัดการ IDPC

สมัครสมาชิกแจ้งข่าวIDPC ทุกเดือน เพื่อรับข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายยาเสพติด


Regions

Related Profiles

  • International Drug Policy Consortium (IDPC)

Translations